วันเสาร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2557

เจ็บท้องคลอด และวิธีลดอาการเจ็บ



ในช่วงใกล้คลอด มดลูกจะขยายตัวและเคลื่อนต่ำลง เมื่อคลำดูบริเวณหน้าท้องจะรู้สึกว่ามีก้อนแข็งๆ อาการแบบนี้เรียกว่า “ท้องแข็ง” หรือ“เจ็บท้องเตือน” ซึ่งการแข็งตัวของมดลูกนี้จะมีความถี่ที่ไม่สม่ำเสมอ อาจจะนานประมาณ 20-25 วินาที ในแต่ละครั้ง ซึ่งอาการท้องแข็งจะเกิดขึ้นได้ในช่วง 2-3 เดือนสุดท้ายก่อนคลอด

อาการเจ็บท้องเตือนเป็นกระบวนการเตรียมความพร้อมก่อนคลอดของร่างกายคุณ แม่ ซึ่งจะช่วยให้ปากมดลูกมีความอ่อนนุ่ม เพิ่มการไหลเวียนของเส้นเลือดไปยังรก ช่วยให้ลูกน้อยได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอ

อย่างไรก็ตาม ถ้าคุณแม่มีอาการเจ็บท้องเตือนเป็นระยะๆ และมีอาการท้องแข็งรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เจ็บแบบสม่ำเสมอและเจ็บนานขึ้นเรื่อยๆ ควรไปพบแพทย์ทันทีเพราะอาจจะเป็นการเจ็บท้องจริงแล้วก็ได้

วิธีลดอาการ เจ็บท้องคลอด
อาการ เจ็บท้องคลอด เป็นอาการที่ว่าที่คุณแม่ทุกคนต้องเผชิญในช่วงใกล้คลอด แต่ไม่ต้องกังวล เพราะในปัจจุบันมีวิธีการที่จะช่วยลดอาการเจ็บได้ ดังนี้

การลดความเจ็บปวดด้วยวิธีธรรมชาติ เช่น ลดความตึงเครียดโดยฝึกหัดผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ฝึกหายใจ ลูบหน้าท้อง และอย่าวิตกกังวลจนเกินไป พูดคุยหากำลังใจจากคนรอบข้าง โดยเฉพาะคุณพ่อควรดูแลคุณแม่อย่างใกล้ชิด ซึ่งวิธีนี้จะช่วยลดปริมาณการใช้ยาแก้ปวดและช่วยลดความเจ็บปวดจากการคลอด

การลูบหน้าท้อง การลูบหน้าท้องที่เป็นจังหวะจะช่วยเบนความสนใจของคุณแม่ออกจากจุดที่เจ็บปวด มาที่ตำแหน่งที่ทำให้คุณแม่สบายขึ้น วิธีการก็คือ ทำมือทั้งสองให้มีลักษณะเป็นอุ้งมือ จากนั้นใช้อุ้งมือวางเหนือหัวหน่าว เริ่มลูบเบาๆ จากจุดนี้ไปถึงยอดมดลูก แล้วลูบลงมาถึงตำแหน่งเริ่มต้นใหม่ ทำไปเรื่อยๆ ควบคู่ไปกับการหายใจแบบลึกๆ ช้าๆ คือ หายใจล้างปอด 1 ครั้งแล้วต่อด้วยการหายใจแบบลึกๆ ช้าๆ

การใช้ยาระงับความเจ็บปวด (Systemic Analgesia) หรือการใช้ยานอนหลับ วิธีนี้สามารถระงับอาการปวดได้ดี ช่วยลดความเครียด คุณแม่สามารถนอนหลับพักผ่อนได้ในระยะแรกของการคลอด ถ้าคุณแม่รู้สึกเจ็บมาก แพทย์จะให้ยาระงับความเจ็บปวด

การใช้ยาชาเฉพาะที่สกัดกั้นประสาท (Regional Analgesia) ยาจะออกฤทธิ์โดยยับยั้งการส่งผ่านกระแสประสาทนำความรู้สึกจากบริเวณมดลูกและ กระดูกเชิงกรานไปสู่ไขสันหลัง ทำให้การส่งผ่านความรู้สึกของเส้นประสาทช้าลงหรือหยุดลงชั่วคราว คุณแม่จะรู้สึกชาตั้งแต่เอวลงมา เป็นการระงับความเจ็บปวดเฉพาะที่ ซึ่งในปัจจุบันนิยมใช้ยาระงับความรู้สึกนอกเยื่อหุ้มไขสันหลังชั้นนอก (Epidural Block Analgesia) มีข้อดีคือ ช่วยให้คุณแม่ไม่เจ็บครรภ์ ถ้าทำถูกวิธีและให้ขนาดยาถูกต้อง จะไม่มีภาวะแทรกซ้อนต่อผู้คลอดและลูกน้อยในครรภ์ และไม่มีผลกระทบต่อระบบเวลาการคลอด สามารถใช้ยาชาซ้ำได้หลายครั้ง ซึ่งการใช้ยาดังกล่าวคุณแม่จะรู้สึกตัวตลอดเวลา

การใช้ยาระงับความเจ็บปวดชนิดสูดดม (Inhalation Analgesia) คือ การใช้ยาสลบประเภทสูดดมในขนาดต่ำ ปกติมักใช้เพื่อเสริมฤทธิ์ของยาฉีดแก้ปวด ปัจจุบันนิยมใช้ก๊าซไนตรัสออกไซด์ต่อออกซิเจนในขนาดความเข้มข้น 50:50 มีฤทธิ์เป็นยาสลบอย่างอ่อน ไม่กดการหายใจ ไม่มีผลกระทบต่อระบบไหลเวียนเลือด ไม่กดการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ ช่วยบรรเทาความเจ็บปวดโดยที่คุณแม่ไม่หลับ จึงช่วยป้องกันการสำลักอาหารได้ด้วย

อย่างไรก็ดี แพทย์จะเป็นผู้เลือกวิธีระงับความเจ็บปวดเพื่อความปลอดภัยของคุณแม่และลูกน้อย

ขอขอบคุณบทความเกี่ยวกับแม่และเด็ก  จากโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น