วันเสาร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2557

10 อุบัติเหตุที่ แม่ ตั้งครรภ์ ต้องระวัง

นิสัยซุ่มซ่ามของคุณผู้หญิงที่ เคยซุ่มซ่ามอย่างไร ตั้งครรภ์ แล้วก็ไม่หายหรอกนะคะ แต่อาจจะต้องเพิ่มความระวังมากขึ้นหน่อย โดยเฉพาะพฤติกรรมที่เสี่ยงให้เกิดอันตรายมากขึ้น เห็นทีคุณแม่ท้องทุกคนต้องระวังให้มากเหมือนกันค่ะ



1. ท้องกระแทกกับพวงมาลัยรถยนต์
คุณแม่ ตั้งครรภ์ ที่ขับรถเอง แม้ไม่เกิดอุบัติเหตุก็อาจจะมีบ้างที่รถเบรกกะทันหันและรุนแรง จนท้องที่มีขนาดใหญ่อาจจะกระแทกกับพวงมาลัยได้ ซึ่งหากกระแทกในระดับเบาๆ ก็อาจจะไม่เป็นอันตรายมากนัก แต่ถ้ากระแทกบ่อยๆ หรือรุนแรงก็ย่อมเกิดอันตรายกับทั้งตัวคุณแม่และลูกในท้องได้

2. ตกบันได ตกส้นรองเท้า(ทั้งส้นเตี้ยและส้นสูง)
คุณแม่ที่รักสวยรักงาม ยังกังวลว่าบุคลิกจะดูไม่ดี รวมถึงชินและมั่นใจว่าใส่ได้ไม่มีปัญหา จึงยังใส่รองเท้าส้นสูงเหมือนปกติ ขอบอกว่าช่วงนี้คงต้องงดไปก่อนค่ะ เพราะการใส่รองเท้าส้นสูง คุณแม่จะต้องเกร็งขาและเกร็งหน้าท้องเพื่อพยายามทรงตัวให้เดินได้ดี ซึ่งอาการเหล่านี้จะเป็นผลทำให้คุณแม่ปวดขา ปวดหลัง ซึ่งส่งผลเสียกับสุขภาพค่ะ

ที่สำคัญส้นรองเท้าที่เรียวบางและสูง คงไม่สามารถรองรับน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นของคุณแม่ จึงอาจจะทำให้คุณแม่เท้าพลิกหรือตกส้นรองเท้า จนเกิดบาดเจ็บขึ้นได้

3. โดนชนแรงๆ ในที่ที่พลุกพล่าน
จะห้ามไม่ให้คุณแม่เดินไปไหนมาไหนเลยคงยากเต็มทีค่ะ ยิ่งคุณแม่ working mom ก็อาจจะยิ่งยากต่อการที่จะเลี่ยงจากแหล่งชุมชน คนพลุกพล่าน ก็อาจจะทำให้มีโอกาสที่คุณแม่โดนกระแทกหรือชนขณะที่เดินสวนกับคนอื่นมากขึ้น

4. เข็มขัดนิรภัยรถยนต์รัดท้อง
หากคุณแม่คาดเข็มขัดนิรภัยไม่ถูกต้อง นอกจากจะไม่ช่วยป้องกันอันตรายที่เกิดขึ้นได้แล้ว ยังได้รับอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นได้ด้วยค่ะ เช่น เข็มขัดนิรภัยรัดท้อง ถูกเข็มขัดนิรภัยรัดแขน

5. นั่งมอเตอร์ไซด์หรือขับรถตกหลุมแล้วกระแทก
หากคุณแม่ต้องนั่งมอเตอร์ไซด์ หรือขับรถเอง การตกหลุมหรือการกระแทกกระทั้นเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงยาก ถึงปกติแล้วร่างกายจะมีการป้องกันตามธรรมชาติคือ การที่ลูกอยู่ในโพรงมดลูก จะมีน้ำคร่ำที่ทำหน้าที่เป็นแอร์แบ็คชั้นดี ช่วยลดแรงกระทบกระเทือนจากภายนอกลงได้บ้าง แต่หากได้รับการกระแทกอย่างรุนแรง เช่น ตกหลุมลึกและตกแรง ก็อันตรายไม่น้อยค่ะ

6. นั่งแล้วลุกขึ้นยืนเร็วเกินไป
อาการปรู๊ดปร๊าด ผุดลุกผุดนั่ง หรือทำอะไรรวดเร็วนี่ถือเป็นบุคลิกที่สั่งสมมานาน จะให้เปลี่ยนในช่วง 2-3 เดือนแรกคงต้องใช้เวลานะคะ แล้วส่วนใหญ่การลุกขึ้นยืนเร็วๆ มักจะเกิดกับคุณแม่ท้องอ่อนๆ

7. ลื่น (ในห้องน้ำ บันได)
ด้วยน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น บวกกับการเคลื่อนไหวที่ไม่คล่องตัวเหมือนตอนที่ยังไม่ตั้งครรภ์ คุณแม่อาจจะเผลอเดินเร็ว ก้าวเท้าไปอย่างไม่ระมัดระวังและไม่มองพื้นบ้าง เช่น การก้าวขึ้น ลงบันได ด้วยขนาดท้องที่ใหญ่ ก็อาจจะบดบังทัศนียภาพการเดินของคุณแม่ ทำให้มองไม่เห็นขนาดของขั้นบันไดว่ากว้าง ยาว เท่าไหร่ ทำให้การกะระยะผิดพลาดได้ค่ะ

หรือพื้นห้องน้ำที่เคยเข้ามาตั้งหลายปี อาจจะมาลื่นใน ช่วง ตั้งครรภ์ ได้ เพราะจังหวะที่ลื่นไถลไปนั้น ถ้าเป็นช่วงที่ไม่ตั้งครรภ์ก็คงสามารถเกี่ยว เหนี่ยว ยึด เกาะ ดึง สิ่งรอบข้างพยุงตัวไม่ให้ล้มลงไปได้ แต่ถ้ากำลังตั้งครรภ์ยิ่งท้องใหญ่ความคล่องตัวก็จะลดลงด้วยนะคะ

8. สะดุด (ทางเท้า โต๊ะ เก้าอี้ สิ่งของ กางเกง กระโปรง)
คงเคยเห็นว่าเก้าอี้ หรือของก็วางอยู่ที่เดิม แต่เท้าเจ้ากรรมก็พานไปเตะเข้าจนได้ อุบัติเหตุที่มักจะพบในกลุ่มนี้บ่อยๆ คือ ชนโต๊ะ ชนเก้าอี้ เตะกล่องที่วางบนพื้น ขาเตะขอบประตู หรือหากใส่กางเกง กระโปรงยาวคุณแม่อาจจะสะดุดกางเกงหรือกระโปรงได้ค่ะ

9. ท้องชนโต๊ะ ชนประตู เพราะกะระยะผิด
จากเดิมที่หน้าท้องเคยแบนราบ แต่เมื่อ ตั้งครรภ์ ด้วยท้องที่โตขึ้นในแต่ละเดือน ด้วยความที่ยังไม่เคยชิน โดยเฉพาะคุณแม่มือใหม่ก็อาจจะทำให้การกะระยะสิ่งของกับขนาดของท้องที่ยื่น ออกไปผิดพลาด จึงอาจจะเห็นคุณแม่ท้องเดินชนของประจำเพราะความไม่เคยชินนี่ล่ะค่ะ

10. เผลอยกของหนัก เกินกำลัง หรือเผลอก้มทั้งๆ ที่ท้องใหญ่
มักจะเกิดกับคุณแม่จอมพลังที่เคยชินกับพฤติกรรมการยกของ (หนัก) เอง ช่วง 9 เดือนเห็นทีต้องถอดชุดมนุษย์จอมพลังออกก่อน กล่องใหญ่ เก้าอี้ตัวยักษ์ หรืองานที่ต้องออกแรง เรียกให้คุณพ่อหรือเพื่อนร่วมงานผู้ชายมาช่วยก่อนค่ะ ส่วนการเผลอก้มใส่รองเท้า หรือทำอะไรปรูดปราดรวดเร็วเกินตัว ส่วนใหญ่เกิดจากความเคยชินเดิมๆ ทำไปโดยอัตโนมัติ หรือคุณแม่บางคนอาจจะลืมไปว่ากำลังตั้งครรภ์ก็มีค่ะ

หากมีอาการเหล่านี้ควรรีบพบคุณหมอด่วนจี๋เลยค่ะ
1. เจ็บท้องตลอดเวลาหลังเกิดอุบัติเหตุ อาจจะเกิดรกลอกตัว มดลูกแตก หรือถ้าเดี๋ยวเจ็บเดี๋ยวหายอาจจะเป็นการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดได้
2. มีเลือดออกทางช่องคลอด เลือดออกกะปริดกะปรอย อาจจะเกิดจากการที่รกลอกตัว
3. จากที่ลูกเคยดิ้น กลับไม่ดิ้น

ขอขอบคุณบทความเกี่ยวกับ แม่และเด็ก  จาก momypedia.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น